บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มุ่งวิเคราะห์ภาพแทนโสเภณีในนวนิยายเรื่องหลังเที่ยงคืน ของ จำลอง ฝั่งชลจิตรเพื่อศึกษาสภาพสังคมที่เกิดขึ้นในช่วงพุทธศักราช 2525 – 2528
ผู้เขียนได้ศึกษาวิเคราะห์ภาพแทนโสเภณีในนวนิยายเรื่องหลังเที่ยงคืน พบภาพแทนทั้งหมด 3 ด้าน คือ 1) โสเภณีคือหญิงที่ขัดต่อความเป็นหญิงไทยตามอุดมคติ เพราะพฤติกรรมของตัวละครผู้หญิงล้วนผิดจากวัฒนธรรมไทยที่เราคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นการเที่ยวกลางคืน การนอนกับชายที่ไม่ใช่สามี การอยู่กินกับผู้ชายที่ไม่ได้แต่งงานจนมีลูกด้วยกัน รวมถึงการใช้ร่างกายในการหากินด้วย 2) โสเภณีคือหญิงที่ถูกมองเป็นวัตถุทางเพศในสังคม ในนวนิยายมีหลายตอนที่กล่าวถึงโสเภณีด้วยการตีค่าเป็นราคาและถูกกระทำอย่างไม่มีเกียรติ 3) โสเภณีคือผู้มีความเป็นอื่นทางสังคม เพราะนอกจากคนในสังคมจะไม่ได้ยกย่องเชิดชูแล้ว ผู้หญิงที่ประกอบอาชีพนี้ก็ไม่ได้มีความภาคภูมิในการประกอบอาชีพของตนเองรวมถึงถูกรังเกียจจากครอบครัวด้วย ซึ่งนวนิยายหลังเที่ยงคืนได้สะท้อนภาพแทนไว้อย่างชัดเจน และยังมีเนื้อหาสอดแทรกให้ผู้อ่านตระหนักถึงปัญหาที่ก่อให้เกิดผู้หญิงหากินหรือโสเภณีขึ้นด้วย
คำสำคัญ: ภาพแทน, โสเภณี, หลังเที่ยงคืน